27 มีนาคม 2555

ต้นยางนา



ชื่อวิทยาศาสตร์ Dipterocapus alatus Roxb. ex G. Don
วงศ์
DIPTEROCARPACEAE
ชื่อไทยพื้นเมือง ยาง, ยางขาว, ยางแม่น้ำ, ยางใต้, เยี่ยง, ชันนา, เหง, ยางตัง (ชุมพร), ยางหยวก (ทั่วไป), ยางกุง (เลย), ยางควาย (หนองคาย), ยางเนิน (จันทบุรี), กาตีล (เขมร-ปราจีนบุรี), ขะยาง (ชาวบน-นครราชสีมา), เคาะ (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่), จ้อง(กะเหรี่ยง), จะเตียล (เขมร), ราลอย (สุรินทร์), ลอยด์ (นครพนม), ทองหลัก(ละว้า)

ลักษณะไม้ยางนา ยางนาเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่มีความสูงประมาณ 40 เมตร ลำต้นตรงเปลา เปลือกสีน้ำตาลอ่อนหรือเทาปนขาวค่อนข้างเรียบ ลำต้นขนาดใหญ่เปลือกมักแตกสะเก็ดเป็นหลุมตื้น เปลือกในสีน้ำตาลอ่อนอมชมพู โคนต้นเป็นพูพอน เรือนยอดเป็นพุ่มกลม ทึบ เกิดตามป่าดงดิบและป่าเบญจพรรณทั่วไป ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด
ใบ เป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ แผ่นใบรูปไข่ถึงรูปรีแกมรูปไข่ กว้าง 6-15 ซม. ยาว 15-35 ซม. ปลายใบมนถึงแหลม โคนใบมน เนื้อใบหนา ผิวใบด้านบนเกลี้ยง ยกเว้นเส้นกลางใบ ผิวใบด้านล่างมีขนนุ่ม เส้นแขนงใบ 14-16 คู่ ก้านใบยาว 3-5 ซม.
ลูกยางนา ผลของไม้ยางเรียกว่า ลูกยาง มีปีกห้าปีก อาศัยลมช่วยพาไปตกไกลจากต้นแม่ เพื่อหาช่องว่างในป่าที่เหมาะสมแก่การเจริญเติบโต ลองสังเกตลูกยางที่ตกลงมา จะพบว่ามีปีกยาวโค้งสองปีก และปีกสั้นสามปีก เป็นติ่งติดกับผล ปีกยาวสองปีกจะยาวไม่เท่ากัน และเฉียงกันเล็กน้อย ทำให้เวลาปลิวตกลงมา มันจะหมุนควงสว่านแบบใบพัดเฮลิคอปเตอร์ ปีกของลูกยางจึงช่วยให้ลูกยางปลิวไปได้ไกลขึ้น ลองทดลองโยนลูกยางดู
ดอกและผลของไม้ยางนา เมื่อไม้ยางนาทิ้งใบหมดแล้ว จะแตกใบอ่อนปลายตุลาคมถึงปลายกุมภาพันธ์ แล้วออกดอก ส่วนหุ้มตาซึ่งอยู่ในหูใบ จะยืดยาวคลี่ออกล่วงหล่นไป หูใบที่ห่อหุ้มส่วนยอดจะเป็นชั้นๆ ตาจะเจริญเป็นกิ่งก้านต่อไป การเจริญเติบโตของกิ่งก้านนี้จะเป็นไปอย่างรวดเร็วเมื่อเจริญเติบโตเต็มที่จะมีประมาณ 6 – 8 ปล้อง เมื่อไม้ยางนาเจริญเติบโตถึงระยะออกดอกผลได้แล้ว การแตกใบอ่อนของไม้ยางนาจะเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว พร้อมทั้งมีตาดอกเกิดขึ้นที่ข้างกิ่งที่แตกออกมาใหม่ เมื่อใบอ่อนเริ่มคลี่ออก ช่อดอกก็จะเริ่มขยายตัวไปพร้อมๆกัน และจะมีการเจริญของดอกจากโคนไปยังปลายของช่อดอกซึ่งเป็นแบบ raceme ดอกมีกลีบเลี้ยงเป็นห่อและมีหูยาวยื่นออกมา 2 หู กลีบดอก มี 5 กลีบ โคนของกลีบดอกติดและซ้อนเรียงกันเป็นวงกลม ดอกยางนามีเกสรตัวผู้เป็นจำนวนมากประมาณ 29 – 36 อัน เรียงกันเป็นวงรอบ 3 วง การผสมเกสรของดอกยางนามีทั้งผสมในตัวเองและผสมข้ามดอก เกสรจะช่วยดึงดูดแมลงให้ช่วยผสมเกสร โดยเฉพาะผึ้งเป็นแมลงที่ช่วยในการผสมเกสรของดอกยางนาอย่างมาก ผลของยางนาจะมีฐานห่อหุ้มด้วยท่อกลีบเลี้ยงแต่ไม่เชื่อมติดผล ฐานกลีบเลี้ยงนี้จะเจริญเติบโตขึ้นตามขนาดของผล และจะมีขนาดใหญ่เป็นปีกสองปีก ตามปกติช่อดอกยางนาช่อหนึ่งจะติดผลเพียง 1 – 3 ผลเท่านั้น
การใช้ประโยชน์ไม้ยางนา ยางนาเป็นไม้หวงห้าม นิยมนำมาใช้ในการก่อสร้างทั่วไป เช่นพื้น ฝา รอด ตง และหีบใส่ของ เป็นต้น คนอีสานใช้น้ำมันจากต้นยางทำขี้กะบอง (ขี้ใต้จุดไฟ) ในทางสมุนไพรน้ำมันจากต้น ใช้ใส่แผล แก้โรคเรื้อน หนองใน น้ำมันผสมกับชันใช้ทาไม้ เครื่องจักรสาน ยาเรือ และใช้เดินเครื่องยนต์แทนน้ำมันขี้โล้ ไม้แปรรูปใช้ทำฝาบ้านเรือน เครื่องเรือน เรือขุดและเรือขนาดย่อม แจว พาย กรรเชียง นิยมใช้ทำไม้อัดต้นมีน้ำยาง ใช้ทาแผล  น้ำต้มเปลือก กินแก้ตับอักเสบ น้ำมันยางรักษาโรคเรื้อน ขับเสมหะ ขับปัสสาวะ แก้ฟันผุ  ใบ แก้ปวดฟัน 
                                วิธีทำน้ำมันยาง ต้นยางนาที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไปจะเริ่มมีน้ำมัน เรียก น้ำมันยาง ทำน้ำมันยางได้ดี โดยบากต้นยางนาความสูงจากโคนต้นขึ้นไปประมาณ 70-80 เซนติเมตร (จุดที่จะบากต้นยางนากะให้ตรงกับกิ่งยางกิ่งแรกของลำต้นจะได้น้ำยางมากกว่าจุดอื่นๆ) บากต้นยางนาให้เป็นรูใหญ่ๆ ให้กลวงและลึกประมาณ 1 คืบ นำใบไม้แห้งสุมไฟในหลุมที่บากไว้ประมาณ 20 นาที แล้วดับไฟทิ้งไว้ครึ่งวันให้น้ำมันยางออกมาในหลุมที่บากเอาไว้ ชาวบ้านจะนำน้ำมันยางมาทาเกวียน ทาเครื่องจักสาน คำคบไฟ และทำขี่ไต้
                                วิธีทำขี้ไต้ เอาน้ำมันยางมาคลุกกับเศษไม้ผุๆ หรือกาบมะพร้าว เมื่อปล่อยให้แห้งจะแข็งตัวจับกันเป็นท่อนเป็นแท่งเอามาสับชิ้นเล็กๆ
ไม้ยางนาในวรรณคดี
พระลอเสด็จลีลา                        ชมพฤกษาหลายหลาก
สองปลากข้างแถวทาง               ยางจับยางชมฝูง
ยูงจับยูงยั่วเย้า                            เปล้าจับเปล้าแปลกหมู่        
ลิลิตพระลอ

สงัดเงียบเยียบเย็นยะเยือกอก   น้ำค้างตกหยดเหยาะลงเผาะผอย
พฤกษาสูงยูงยางสล้างลอย       ดูชดช้อยชื่นชุ่มชะอุ่มใบ
                                                                      สุนทรภู่
                                                                      นิราศเมืองแกลง
ยางนา : ไม้มีค่าที่ในหลวงทรงห่วงใย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชปรารภเมื่อปี พ.ศ. 2504 ด้วยทรงห่วงใยในสถานการณ์ของไม้ยางนาเมื่อกว่า 40 ปีที่แล้วว่า
ไม้ยางนาในประเทศไทยได้ถูกตัดฟันไปใช้สอยและทำเป็นสินค้ากันเป็นจำนวนมากขึ้นทุกปี เป็นที่น่าวิตกว่าหากมิได้ทำการบำรุงส่งเสริม และดำเนินการปลูกไม้ยางนาขึ้นแล้ว ปริมาณไม้ยางนาก็จะลดน้อยลงไปทุกที จึงควรที่จะได้มีการดำเนินการวิจัยเกี่ยวกับการปลูกไม้ยางนา เพื่อจะได้นำความรู้ไปใช้ในการปฏิบัติ


สรรพคุณทางยา
เปลือกยางนา  มีรสฝาด เฝื่อนขม  ต้มดื่มแก้ตับอักเสบ  บำรุงร่างกาย  ใช้ถูนวดแก้ปวดตามข้อ

ใบยางนา มีประโยชน์ และเมล็ด  รสฝาดร้อน  ต้มใส่เกลืออมแก้ปวดฟัน กันฟันโยกคลอน



ใบ/ยาง รสฝาดขม,ร้อน  ใช้ขับเลือด  ตัดลูก(ทำให้เป็นหมัน)


น้ำมันยางดิบ  รสเมาขื่น  ถ่ายหัวริดสีดวงทวารหนักให้ฝ่อ  ถ่ายกามโรค  ทางแผลเน่าเปื่อย  แผลเป็นหนอง  และ อื่น ๆ อีก


เอกสารอ้างอิง
นิรนาม. 2550. เขาดงยาง ใน สุวรรณภูมิ สังคมวัฒนธรรม, หนังสือพิมพ์รายวัน มติชน 26 ตุลาคม 2550. น.34.
http://www.wanakorn.com/programs_detail.php?tid=48&nid=202
http://www.wanakorn.com/programs_detail.php?tid=48&nid=202
http://www.wangtakrai.com/panmai/detail.php?id=309
http://prms.soc.ku.ac.th/datatree/008.html
***********************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น